สํญญาซืือขายสิทธิครอบครอง ที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ “ไม่เป็นนิติกรรมที่เป็นโมฆะ”

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1696/2544

พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14ที่ห้ามมิให้ยึดถือครอบครองที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ เป็นบทบัญญัติที่ใช้บังคับระหว่างรัฐกับราษฎร ซึ่งเป็นผลให้ราษฎรที่เข้ายึดถือครอบครองไม่ได้สิทธิครอบครองที่ดินโดยชอบด้วยกฎหมาย และไม่อาจอ้างสิทธิใด ๆ ใช้ยันรัฐได้ แต่ในระหว่างราษฎรด้วยกันย่อมมีสิทธิขายการครอบครองและพืชผลที่ปลูกอยู่ในที่ดินและมีหน้าที่ส่งมอบการครอบครองพืชผลที่ปลูกให้แก่กัน ส่วนประกาศสำนักงานป่าไม้เขตที่ระบุว่า พื้นที่ สทก. ที่ได้รับอนุญาตห้ามจำหน่ายจ่ายโอนแต่ให้ตกทอดเป็นมรดกแก่ทายาทได้ ก็มิใช่กฎหมาย สัญญาซื้อขายการครอบครองที่ดินป่าสงวนแห่งชาติระหว่างโจทก์กับจำเลย จึงไม่เป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายอันจะเป็นโมฆะ

________________________________


โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 29 พฤษภาคม 2533ถึงวันที่ 14 มิถุนายน 2533 ติดต่อกัน จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้อุบายหลอกลวงโจทก์เนื่องจากทราบดีว่าโจทก์ป่วยเป็นโรคทางสมองเส้นโลหิตฝอยในสมองตีบและอยู่ในระหว่างการดูแล

ของแพทย์โดยจำเลยที่ 4 อ้างตนเองว่าเป็นร่างทรงของเจ้าพ่อกุมารทองหลอกลวงโจทก์ให้ซื้อที่ดินของจำเลยที่ 1 ตั้งอยู่อำเภอแม่แตงจังหวัดเชียงใหม่ เนื้อที่ 19 ไร่ ในราคา 2,000,000 บาท วันที่ 30พฤษภาคม 2533 จำเลยที่ 3 และที่ 4 พาโจทก์ไปพบจำเลยที่ 2แล้วพาไปดูที่ดิน โดยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ร่วมกันชี้เขตที่ดินซึ่งมีถนนผ่านกลาง แจ้งว่าที่ดินสองข้างถนนเป็นแปลงเดียวกันสามารถตกลงซื้อขายกับจำเลยที่ 2 ได้เพราะเป็นตัวแทนจำเลยที่ 1โจทก์หลงเชื่อว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวจึงตกลงซื้อที่ดินและเขียนสัญญาที่บ้านจำเลยที่ 4 ว่าตกลงซื้อในราคา 2,000,000 บาท วางเงินมัดจำไว้ก่อน 10,000 บาทอีก 300,000 บาท จะวางเพิ่มภายใน 7 วัน และอีก 30 วันจะชำระส่วนที่เหลือ ต่อมาโจทก์ซื้อตั๋วแลกเงินจำนวน 300,000บาท จากธนาคาร พร้อมพิมพ์สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินอีก1 ฉบับ ส่งมาให้จำเลยที่ 3 เพื่อเบิกเงินมอบให้แก่จำเลยที่ 1และให้จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในสัญญา หลังจากนั้นโจทก์เดินทางไปที่จังหวัดเชียงใหม่ จำเลยที่ 3 มาพบโจทก์แจ้งว่ามอบเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ไปแล้ว พร้อมคืนสัญญาจะซื้อจะขายที่จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อให้แก่โจทก์ วันรุ่งขึ้นจำเลยที่ 3มาพบโจทก์ โจทก์สลักหลังตั๋วแลกเงินจำนวน 1,600,000บาท ให้แก่จำเลยที่ 3 เพื่อเบิกเงินที่ธนาคาร มอบให้แก่จำเลยที่ 1ต่อมาโจทก์สอบถามจำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่าจะได้รับเอกสารสิทธิเมื่อใด จำเลยที่ 2 และที่ 3 แจ้งว่าเรื่องอยู่ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่เพื่อรอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ลงลายมือชื่อในเอกสารสิทธิ ต่อมาโจทก์สอบถามอีก จำเลยที่ 1แจ้งว่าให้ไปติดต่อจำเลยที่ 2 โจทก์ไปสอบถามสำนักงานป่าไม้เขตเชียงใหม่ จึงทราบว่าจำเลยทั้งสี่ร่วมกันนำที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่แตงมาขายให้แก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 1 เคยยื่นคำร้องขอรับหนังสือสิทธิทำกินในที่ดินเพียง 4 ไร่เศษ ผู้ที่ได้รับหนังสือสิทธิทำกินจะจำหน่ายจ่ายโอนให้แก่ผู้ใดไม่ได้เว้นแต่ตกทอดเป็นมรดกแก่ทายาทโดยธรรม สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงตกเป็นโมฆะ การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ เงินที่จำเลยทั้งสี่รับไปจำนวน2,000,000 บาท เป็นลาภมิควรได้ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 2,032,291.66 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราชั่งละบาทต่อเดือนในต้นเงิน 2,000,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ตกลงซื้อที่ดินทั้ง ๆ ที่โจทก์ทราบดีอยู่แล้วว่าหากซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 จะไม่ได้กรรมสิทธิ์เป็นการซื้อขายสิทธิ์ประโยชน์ไม่ใช่ซื้อขายกรรมสิทธิ์ การซื้อขายจึงไม่เป็นโมฆะ จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นผู้ละเมิด โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเงินคืนฐานลาภมิควรได้ ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 3 ให้การว่า การซื้อขายดังกล่าวโจทก์ทำด้วยความสมัครใจและทราบดีว่าไม่ได้กรรมสิทธิ์ แต่ตกลงซื้อสิทธิครอบครองของจำเลยที่ 1 และไม้ผลที่จำเลยที่ 1 ปลูกในที่ดินดังกล่าว การซื้อขายดังกล่าวไม่เป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเงินค่าที่ดินคืนฐานลาภมิควรได้

จำเลยที่ 4 ให้การว่า โจทก์เป็นนักกฎหมาย มีอาชีพเป็นทนายความย่อมมีความรู้เกี่ยวกับการทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินจึงควรใช้ความระมัดระวังในการซื้อขาย เหตุพิพาทเกิดขึ้นเพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์ จำเลยที่ 4ไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 คืนเงินจำนวน1,200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีและจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ร่วมกันคืนเงินจำนวน 800,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 14มิถุนายน 2533 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่แตง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่และโจทก์ได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 ในราคา2,000,000 บาท โจทก์ได้ชำระเงินไปครบถ้วนแล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทเป็นโมฆะหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินพิพาทมาจากนายสม ศรีอ้ายเมื่อปี 2520 เป็นการซื้อขายสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามหลักฐาน ภ.บ.ท.5 และจำเลยที่ 1 ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยปลูกไม้ยืนต้นประเภทมะม่วง ลิ้นจี่ ลำไย และมะพร้าว จำเลยที่ 1 เสียภาษีบำรุงท้องที่ในนามตนเองและนายสมตลอดมา ตามใบเสร็จรับเงินภาษีบำรุงท้องที่เอกสารหมายล.1 และ ล.6 ตามลำดับ ต่อมาปี 2529 จำเลยที่ 1 ได้ยื่นขอสิทธิทำกินในที่ดินพิพาท จำเลยที่ 1 ได้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าครอบครองที่ดินพิพาทจำนวน 19 ไร่ พนักงานเจ้าหน้าที่บอกว่ายื่นขอสิทธิทำกินได้ไม่เกินคนละ 15 ไร่ จำเลยที่ 1 จึงให้นายชัยวัฒน์ เนียมแสง บุตรยื่นขอสิทธิทำกินอีก 1 แปลงตามคำขอหนังสือสิทธิทำกินเอกสารหมาย ล.7 จำเลยที่ 1ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมา ขณะที่โจทก์ทำสัญญาซื้อขายตามเอกสารหมาย จ.10 หรือตามสัญญาจะซื้อจะขายตามเอกสารหมาย จ.11 นั้น ที่ดินพิพาทยังมีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้เสียภาษีบำรุงท้องที่ เมื่อโจทก์ชำระราคาแล้วได้มีการเปลี่ยนชื่อใน ภ.บ.ท.5 จากจำเลยที่ 1 เป็นนายอรรจน์เศรษฐบุตร ตามเอกสารหมาย จ.7 แผ่นที่ 2 การซื้อขายที่ดินพิพาทซึ่งกระทำเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2533 จึงเกิดจากความสมัครใจของคู่สัญญาตามความเป็นจริง และโจทก์ได้เข้าครอบครองโดยทำรั้วล้อมรอบที่ดินพิพาทแล้ว ดังนี้ แม้ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14 บัญญัติห้ามมิให้บุคคลใดยึดถือครอบครองที่ดินป่าสงวนแห่งชาติก็เป็นเพียงบทบัญญัติที่ใช้บังคับระหว่างรัฐกับราษฎร ซึ่งเป็นผลให้ราษฎรที่เข้ายึดถือครอบครองที่ดินไม่ได้สิทธิครอบครองที่ดินโดยชอบด้วยกฎหมายและไม่อาจอ้างสิทธิใด ๆ ใช้ยันรัฐได้ แต่ในระหว่างราษฎรด้วยกันย่อมมีสิทธิขายการครอบครองและพืชผลที่ปลูกอยู่แล้วในที่ดินและมีหน้าที่ส่งมอบการครอบครองพืชผลที่ปลูกนั้นให้

แก่กันทั้งประกาศสำนักงานป่าไม้เขตเชียงใหม่ เรื่อง เงื่อนไขหนังสืออนุญาต สทก. เอกสารหมาย จ.20 ข้อ 1 ที่ระบุว่าพื้นที่ สทก.ที่ได้รับอนุญาตห้ามจำหน่ายจ่ายโอน แต่ให้ตกทอดเป็นมรดกแก่ทายาทได้ เพิ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2533ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากสัญญาเป็นผลระหว่างคู่สัญญาไปแล้ว นอกจากนี้ข้อกำหนดห้ามโอนดังกล่าวกระทำโดยประกาศของทางราชการมิใช่โดยกฎหมาย ดังนั้น สัญญาซื้อขายการครอบครองที่ดินป่าสงวนแห่งชาติแม่แตงดังกล่าวระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ย่อมไม่เป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายอันจะเป็นโมฆะ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้นเมื่อสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทชอบด้วยกฎหมายแล้ว ฎีกาข้ออื่นของโจทก์จึงไม่จำต้องวินิจฉัย”

พิพากษายืน

( พีรพล จันทร์สว่าง – วิชัย ชื่นชมพูนุท – สุรศักดิ์ กาญจนวิทย์ )